เลือกชีวิต

นาธานเติบโตในครอบครัวที่เชื่อในพระคริสต์ แต่เขาเริ่มออกห่างจากความเชื่อในวัยเด็กเมื่อเข้ามหาวิทยาลัยและมีการดื่มสังสรรค์ “พระเจ้าทรงพาผมกลับมาหาพระองค์ในตอนที่ผมไม่สมควรได้รับ” เขาพูด นาธานได้ใช้เวลาในช่วงฤดูร้อนเพื่อแบ่งปันเรื่องพระเยซูกับคนแปลกหน้าตามท้องถนนในเมืองหลักของอเมริกา และเขากำลังจะจบการฝึกงานเป็นศิษยาภิบาลอนุชนที่คริสตจักรของเขา เป้าหมายของนาธานคือการช่วยคนหนุ่มสาวไม่ให้เสียเวลาไปกับชีวิตที่ไม่ได้อยู่เพื่อพระคริสต์์

เช่นเดียวกับนาธาน โมเสสผู้นำของชนชาติอิสราเอลมีภาระใจกับคนรุ่นต่อไป เมื่อรู้ว่าท่านจะต้องสละตำแหน่งผู้นำในไม่ช้า โมเสสจึงมอบกฎเกณฑ์ของพระเจ้าแก่คนอิสราเอลและบอกถึงผลของการเชื่อฟังและไม่เชื่อฟัง คือ การอวยพรและชีวิตเมื่อเชื่อฟัง และการสาปแช่งและความตายเมื่อไม่เชื่อฟัง ท่านพูดกับพวกเขาว่า “เพราะฉะนั้นท่านจงเลือกเอาข้างชีวิต เพื่อท่านและลูกหลานของท่านจะได้มีชีวิตอยู่” (ฉธบ.30:19) โมเสสหนุนใจให้พวกเขารักพระเจ้า “เชื่อฟังพระสุรเสียงของพระองค์ และยึดมั่นในพระองค์ เพราะองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นชีวิตของท่าน” (ข้อ 20 TNCV)

การเลือกความบาปมีผลลัพธ์ที่ตามมา แต่เมื่อเรายอมมอบชีวิตให้พระเจ้าอีกครั้ง พระองค์จะทรงมีพระเมตตาอย่างแน่นอน (ข้อ 2-3) และนำเรากลับมา (ข้อ 4) พระสัญญานี้สำเร็จผ่านทางผู้คนในประวัติศาสตร์ของอิสราเอล รวมถึงพระราชกิจสุดท้ายของพระเยซูบนไม้กางเขนเพื่อนำเรากลับสู่ความสัมพันธ์กับพระเจ้า เราเองก็มีทางเลือกในวันนี้ และมีเสรีภาพที่จะเลือกชีวิต

พระเจ้าทรงเห็นเรา

มีต้นไม้หนึ่งหมื่นสี่พันล้านต้นในรัฐมิชิแกน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นต้นไม้ที่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทั่วไป กระนั้น ทางรัฐยังเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน “ตามล่าต้นไม้ใหญ่” ประจำปี เพื่อตามหาต้นไม้ที่เก่าแก่และมีขนาดใหญ่ที่สุดซึ่งจะได้รับการยกย่องว่าเป็นสัญลักษณ์ที่มีชีวิต การแข่งขันนี้เป็นการช่วยยกระดับต้นไม้ธรรมดาขึ้น เพราะในผืนป่าทุกแห่งอาจมีต้นที่จะชนะรางวัลรอคอยให้มีใครบางคนสังเกตเห็นมัน 

พระเจ้าไม่เหมือนกับคนส่วนใหญ่ พระองค์ทรงสังเกตเห็นสิ่งธรรมดาทั่วไปเสมอ ทรงใส่พระทัยในสิ่งของหรือบุคคลที่คนอื่นมองข้าม พระเจ้าทรงส่งคนธรรมดาคนหนึ่งชื่ออาโมสไปยังอิสราเอลในรัชสมัยของกษัตริย์เยโรโบอัม อาโมสตักเตือนประชากรให้หันจากความชั่วร้ายและแสวงหาความยุติธรรม แต่ท่านถูกขับไล่และบอกให้เงียบ พวกเขาพูดจาดูถูกท่านว่า “ท่านผู้ทำนาย ไปเถิด จงหนีไปเสียที่แผ่นดินยูดาห์...และเผยพระวจนะที่นั่นเถิด” (อมส.7:12) อาโมสตอบว่า “ข้าพเจ้าไม่ใช่ผู้เผยพระวจนะ หรือลูกของผู้เผยพระวจนะ ข้าพเจ้าเป็นคนเลี้ยงสัตว์ และเป็นคนดูแลสวนมะเดื่อ และพระเจ้าทรงนำข้าพเจ้ามาจากการติดตามฝูงแพะแกะ และพระเจ้าตรัสกับข้าพเจ้าว่า ‘ไปซิ จงเผยพระวจนะแก่อิสราเอลประชากรของเรา’” (ข้อ 14-15)

พระเจ้าทรงรู้จักและสังเกตเห็นอาโมสเมื่อท่านเป็นเพียงคนเลี้ยงแกะทั่วไปที่คอยดูแลฝูงแกะและต้นไม้ หลายร้อยปีต่อมา พระเยซูทรงสังเกตเห็นและทรงเรียกคนธรรมดาอย่างนาธานาเอล (ยน.1:48) และศักเคียส (ลก.19:4-5) ขณะที่พวกเขายืนอยู่ใกล้กับต้นมะเดื่อ ไม่ว่าเราจะรู้สึกมืดมนเพียงใด พระองค์ทรงเห็นเรา รักเรา และทรงใช้เราตามพระประสงค์ของพระองค์์

พระเจ้าแห่งความยุติธรรม

เมื่อตอนเป็นวัยรุ่น ไรอันสูญเสียแม่ไปด้วยโรคมะเร็ง เขาพบว่าตัวเองไม่มีบ้านและไม่นานก็ลาออกจากโรงเรียน เขารู้สึกสิ้นหวังและต้องหิวโหยอยู่บ่อยครั้ง หลายปีต่อมา ไรอันได้ก่อตั้งองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ช่วยเหลือผู้อื่นโดยเฉพาะเด็กเล็กๆ ให้สามารถปลูก เก็บเกี่ยว และทำอาหารจากสิ่งที่พวกเขาปลูกในสวน องค์กรนี้สร้างขึ้นจากความเชื่อที่ว่าไม่มีใครควรขาดอาหาร และคนที่มีก็ควรดูแลคนที่ไม่มี ความห่วงใยที่ไรอันมีต่อผู้อื่นสะท้อนถึงพระทัยของพระเจ้าในเรื่องความยุติธรรมและความเมตตา

พระเจ้าทรงห่วงใยอย่างลึกซึ้งในความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานที่เราเผชิญ เมื่อพระองค์ทรงเห็นความอยุติธรรมที่เลวร้ายในอิสราเอล พระองค์ได้ทรงส่งผู้เผยพระวจนะอาโมสมาเปิดโปงความหน้าซื่อใจคดของพวกเขา ประชากรที่พระเจ้าได้ทรงช่วยเหลือออกจากการถูกกดขี่ในอียิปต์ บัดนี้ได้ขายเพื่อนบ้านไปเป็นทาสเพื่อแลกกับรองเท้าคู่เดียว (อมส.2:6) พวกเขาทรยศต่อผู้บริสุทธิ์ ปฏิเสธความยุติธรรมต่อผู้ถูกกดขี่ และเหยียบย่ำ “ศีรษะ” ของคนจน (ข้อ 6-7) ขณะแสร้งทำเป็นนมัสการพระเจ้าด้วยเครื่องบูชาและถือวันศักดิ์สิทธิ์ (4:4-5)

อาโมสวิงวอนประชาชนเหล่านั้นว่า “จง​แสวงหา​ความ​ดี อย่า​แสวงหา​ความ​ชั่ว เพื่อ​เจ้า​จะ​ดำรง​ชีวิต​อยู่​ได้​ พระ​เจ้า​จอม​โยธา​จึง​ทรง​สถิต​กับ​เจ้า ดังที่​เจ้า​กล่าว​แล้ว​นั้น” (5:14) เราแต่ละคนก็เหมือนกับไรอันที่เคยมีประสบการณ์กับความเจ็บปวดและความอยุติธรรมในชีวิต จนสามารถเข้าใจผู้อื่นและให้ความช่วยเหลือคนเหล่านั้นได้ ถึงเวลาแล้วที่เราจะ “แสวงหาความดี” และร่วมกับพระเจ้าในการหว่านเมล็ดแห่งความยุติธรรมในทุกรูปแบบ

พระราชาที่มองไม่เห็น

ผู้แสวงบุญ คือชื่อละครเพลงที่อิงมาจากหนังสือปริศนาธรรม (โดยจอห์น บันยัน) ซึ่งเป็นนิทานเปรียบเทียบชีวิตของผู้เชื่อพระเยซูคนหนึ่ง ในเรื่องนี้พลังอำนาจที่มองไม่เห็นทั้งหมดในโลกฝ่ายวิญญาณถูกทำให้ปรากฏแก่ผู้ชม ตัวละครที่เป็นพระราชาซึ่งเล็งถึงพระเจ้าปรากฏบนเวทีเกือบตลอดการแสดง พระองค์สวมชุดสีขาวและสกัดกั้นการโจมตีจากศัตรูอย่างแข็งขัน โอบอุ้มผู้ที่เจ็บปวดอย่างอ่อนโยน และเตือนคนอื่นๆให้ทำความดี ถึงพระราชาจะเป็นตัวละครที่ขาดไม่ได้แต่ตัวละครหลักที่เป็นมนุษย์กลับไม่สามารถมองเห็นพระราชาได้ จะเห็นก็เพียงผลลัพธ์ที่เกิดจากการะกระทำของพระราชาเท่านั้น

พวกเราดำเนินชีวิตเหมือนกับว่าองค์กษัตริย์ที่แท้จริงทรงกระทำกิจอยู่ในชีวิตของเราแม้เราจะมองไม่เห็นพระองค์หรือไม่ ในเวลาที่เป็นทุกข์ผู้เผยพระวจนะดาเนียลได้เห็นนิมิตของผู้ส่งสารจากสวรรค์ (ดนล.10:7) ซึ่งถูกส่งมาโดยตรงเพื่อตอบคำอธิษฐานอย่างสัตย์ซื่อของท่าน (ข้อ 12) ผู้ส่งสารอธิบายว่าการสู้รบฝ่ายวิญญาณทำให้มาถึงช้า และมีทูตอีกองค์ที่ถูกส่งมาช่วยเหลือ (ข้อ 13) เรื่องนี้เตือนให้ดาเนียลระลึกว่า ถึงแม้ท่านจะมองไม่เห็นพระเจ้าแต่ท่านก็ถูกรายล้อมด้วยหลักฐานที่แสดงถึงการดูแลและเอาใจใส่ของพระองค์ “บุรุษผู้เป็นที่รักอย่างยิ่ง อย่ากลัวเลย” ผู้ส่งสารให้กำลังใจท่าน (ข้อ 19) ในตอนจบของผู้แสวงบุญ เมื่อตัวละครหลักไปถึงประตูสวรรค์หลังจากผ่านความทุกข์ยากมากมาย เขาร้องออกมาด้วยความยินดีเป็นครั้งแรกว่า “ข้าพเจ้ามองเห็นพระราชาแล้ว!” วันหนึ่งเราจะได้เห็นพระองค์ด้วยดวงตาใหม่ของเราบนสวรรค์ แต่ในวันนี้เราสามารถคาดหวังว่าจะเห็นสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำในชีวิตของเราได้

ร่ำรวยในความดี

หลังจากทำงานหนักมาเจ็ดสิบปีในอาชีพคนซักรีดที่ต้องซัก ตากและรีดเสื้อผ้าด้วยมือ ในที่สุดโอซีโอล่า แม็กคาร์ตี้ก็พร้อมที่จะเกษียณในวัยแปดสิบหกปี เธอตั้งใจเก็บออมเงินที่หามาได้น้อยนิดในตลอดระยะหลายปีนั้น และได้สร้างความประหลาดใจให้กับชุมชนของเธอด้วยการบริจาคเงิน 150,000 ดอลล่าร์ให้กับมหาวิทยาลัยในละแวกนั้น เพื่อเป็นกองทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนที่ขัดสน ของขวัญที่ไม่เห็นแก่ตัวของเธอเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนหลายร้อยร่วมบริจาคจนจำนวนเงินเพิ่มเป็นสามเท่าจากที่เธอให้

โอซีโอล่าเข้าใจดีว่ามูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สินที่เธอมีไม่ได้อยู่ที่การใช้มันเพื่อประโยชน์ของตนเอง แต่เพื่อเป็นพรแก่ผู้อื่น อัครสาวกเปาโลเตือนทิโมธีให้สั่งสอนผู้คนที่มั่งมีฝ่ายโลก “ให้กระทำดีมากๆ” (1 ทธ.6:18) เราแต่ละคนได้รับหน้าที่ให้ดูแลทรัพย์สินไม่ว่าจะอยู่ในรูปของเงินทองหรือทรัพยากรด้านอื่นๆ แทนที่จะวางใจในทรัพย์สมบัติของเรา เปาโลเตือนให้เรามุ่งหวังในพระเจ้าเท่านั้น (ข้อ 17) และส่ำสมทรัพย์สมบัติไว้ในสวรรค์โดยการ “เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และไม่เห็นแก่ตัว” (ข้อ 18)

ในระบบเศรษฐกิจของพระเจ้า การยึดเอาไว้และไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มีแต่จะนำไปสู่ความว่างเปล่า แต่การให้ผู้อื่นด้วยความรักเป็นหนทางสู่ความอิ่มเอมใจ การมีทั้งความชอบธรรมและความพึงพอใจในสิ่งที่เรามี แทนที่จะดิ้นรนเพื่อให้มีมากขึ้นก็เป็นประโยชน์มากมาย (ข้อ 6) เราจะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ทรัพยากรของเราเหมือนที่โอซีโอล่าทำได้อย่างไร ขอให้เรามุ่งมั่นที่จะกระทำความดีให้มากในวันนี้ตามที่พระเจ้าทรงนำเรา

คำอธิษฐานสำคัญ

“ขออธิษฐานเผื่อการสแกนสมองที่จะเกิดขึ้น” “ที่ลูกๆของฉันจะกลับมาโบสถ์” “ที่เดฟจะได้รับการปลอบประโลมใจจากการสูญเสียภรรยา” ในแต่ละสัปดาห์ทีมผู้รับใช้ของเราได้รับบัตรรายการที่มีคำขอให้อธิษฐานเผื่อทำนองนี้เพื่อเราจะอธิษฐานและส่งข้อความที่เขียนด้วยลายมือไปให้แต่ละคน คำขอนั้นล้นหลามและความพยายามของเราอาจดูเล็กน้อยและไม่มีใครสังเกตเห็น แต่สิ่งนี้เปลี่ยนไปหลังจากที่ฉันได้รับการ์ดขอบคุณจากใจของเดฟสามีผู้สูญเสีย พร้อมกับสำเนาข่าวมรณกรรมของภรรยาอันเป็นที่รักของเขา ฉันจึงได้ตระหนักอีกครั้งว่าคำอธิษฐานนั้นมีความสำคัญ

พระเยซูทรงเป็นแบบอย่างว่าเราควรอธิษฐานอย่างกระตือรือร้น เป็นประจำ และด้วยความเชื่อที่เปี่ยมด้วยความหวัง เวลาของพระองค์บนโลกมีจำกัด แต่พระองค์ให้ความสำคัญกับการออกไปอธิษฐานตามลำพัง (มก.1:35; 6:46; 14:32)

หลายร้อยปีก่อนหน้านั้นกษัตริย์เฮเซคียาห์แห่งอิสราเอลก็ได้เรียนรู้บทเรียนนี้เช่นกัน ทรงได้รับคำทูลว่าความเจ็บป่วยจะคร่าชีวิตพระองค์ในไม่ช้า (2 พกษ.20:1) เฮเซคียาห์ “ทรงหันพระพักตร์เข้าข้างฝา และอธิษฐานต่อพระเจ้า” (ข้อ 2) ด้วยความทุกข์ใจและได้กันแสงอย่างขมขื่น ในเหตุการณ์นี้พระเจ้าทรงตอบทันที ทรงรักษาพระอาการประชวรของเฮเซคียาห์ ประทานชีวิตยืนยาวอีก 15 ปี และทรงสัญญาว่าจะช่วยกู้อาณาจักรจากมือศัตรู (ข้อ 5-6) พระเจ้าทรงตอบคำอธิษฐานไม่ใช่เพราะเฮเซคียาห์ทรงดำเนินชีวิตดีงาม แต่ “เพื่อเห็นแก่ [พระเจ้า]เอง และเพื่อเห็นแก่ดาวิดผู้รับใช้ของ [พระเจ้า]” (ข้อ 6) เราอาจไม่ได้รับสิ่งที่ทูลขอในทุกครั้ง แต่เรามั่นใจได้ว่าพระเจ้าทรงกำลังกระทำกิจในคำอธิษฐานและผ่านคำอธิษฐานทุกคำ

ชุมชนในพระคริสต์

“ผมรู้ว่าวิธีเดียวที่จะประสบชัยชนะคือผมจะต้องลืมเรื่องของครอบครัว ภรรยา ลูกชาย และลูกสาวของผม” จอร์ดอนกล่าว “ผมพบว่าผมไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ พวกเขาถักทอเป็นเนื้อเดียวกับจิตใจและจิตวิญญาณของผม” จอร์ดอนอยู่ลำพังในพื้นที่ห่างไกล เขาเข้าร่วมรายการเรียลลิตี้ที่ผู้เข้าแข่งขันต้องเอาชีวิตรอดกลางแจ้งโดยใช้เสบียงให้น้อยที่สุดและนานที่สุด สิ่งที่ทำให้เขาต้องยอมแพ้ไม่ใช่หมีกริซลี อุณหภูมิที่จุดเยือกแข็ง การบาดเจ็บ หรือความหิวโหย หากแต่เป็นความเหงาที่ถาโถมและความปรารถนาที่จะได้อยู่กับครอบครัวของเขา

เราอาจมีทักษะที่จำเป็นทุกอย่างสำหรับการเอาชีวิตรอดในถิ่นทุรกันดาร แต่การแยกตัวเองออกจากชุมชนจะทำให้เราล้มเหลวอย่างแน่นอน ผู้มีปัญญาที่เขียนพระธรรมปัญญาจารย์ กล่าวว่า “สองคนดีกว่าคนเดียว เพราะว่า...อีกคนหนึ่งจะได้พยุงเพื่อนของตนให้ลุกขึ้น” (4:9-10) ชุมชนที่ให้เกียรติพระคริสต์นั้นแม้จะเต็มไปด้วยความยุ่งเหยิงวุ่นวาย แต่ชุมชนนั้นก็มีความสำคัญที่ช่วยให้เราอยู่รอด เราไม่มีทางที่จะต่อสู้กับการทดลองของโลกนี้ได้หากเราพยายามที่จะจัดการด้วยตัวเอง ผู้ที่ตรากตรำทำงานอยู่ตัวคนเดียวก็ตรากตรำโดยเปล่าประโยชน์ (ข้อ 8) หากไม่มีชุมชนแล้ว เราจะเสี่ยงต่ออันตรายมากขึ้น (ข้อ 11-12) เมื่อเปรียบกับเชือกเส้นเดียว “เชือกสามเกลียวจะขาดง่ายก็หามิได้” (ข้อ 12) ของประทานแห่งชุมชนที่มีความรักและมีพระคริสต์เป็นศูนย์กลางไม่เพียงคอยหนุนน้ำใจเรา แต่ยังทำให้เรามีกำลังที่จะอยู่รอดแม้ในสถานการณ์ที่ท้าทาย เราต่างต้องการกันและกัน

ประดับกายด้วยพระคริสต์

ฉันตื่นเต้นที่จะได้ใส่แว่นตาใหม่เป็นครั้งแรก แต่หลังจากผ่านไปไม่กี่ชั่วโมง ฉันก็อยากโยนมันทิ้งไป ดวงตาของฉันล้าและศีรษะปวดตุบๆเพราะกำลังปรับตัวกับค่าสายตาใหม่ หูของฉันเจ็บจากขาแว่นที่ไม่คุ้นชิน วันต่อมาฉันโอดครวญเมื่อนึกได้ว่าจะต้องใส่มันอีก ฉันต้องตัดสินใจซ้ำๆที่จะเลือกใช้แว่นตาอันนี้ในแต่ละวันเพื่อให้ร่างกายได้ปรับตัว ซึ่งใช้เวลาอยู่หลายสัปดาห์ทีเดียว แต่หลังจากนั้นฉันก็ไม่รู้สึกว่ากำลังใส่มันอยู่อีกต่อไป

การสวมใส่สิ่งใหม่ต้องอาศัยการปรับตัว แต่เราจะคุ้นเคยกับมันเมื่อเวลาผ่านไป และมันก็เหมาะกับเรามากกว่า เราอาจจะได้เห็นสิ่งที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนด้วย ในโรม 13 อัครทูตเปาโลบอกผู้ติดตามพระคริสต์ให้ “สวมเครื่องอาวุธของความสว่าง” (ข้อ 12) และประพฤติตัวให้เหมาะสม พวกเขาเชื่อในพระเยซูแล้ว แต่ดูเหมือนจะยัง “หลับ” อยู่และรู้สึกพอใจแบบนั้น พวกเขาต้อง “ตื่นจากหลับ” และลงมือทำ ประพฤติตัวให้เหมาะสมและละทิ้งความบาป (ข้อ 11-13) เปาโลหนุนใจพวกเขาให้ประดับกายด้วยพระเยซูคริสตเจ้า และเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้นในความคิดและการกระทำ (ข้อ 14)

เราไม่อาจสะท้อนวิถีแห่งความรัก ความอ่อนสุภาพ ความกรุณา ความเมตตาและความสัตย์ซื่อของพระเยซูได้ในแค่ชั่วข้ามคืน หากแต่เป็นกระบวนการที่ยาวนานของการเลือกที่จะ “สวมเครื่องอาวุธของความสว่าง” ในทุกวัน แม้ในเวลาที่เราไม่อยากทำเพราะมันไม่สะดวกสบาย เมื่อเวลาผ่านไป พระองค์จะทรงเปลี่ยนเราให้ดีกว่าเดิม

แรงบันดาลใจจากความรัก

จิมและลานีด้าเป็นคู่รักสมัยเรียนวิทยาลัย พวกเขาแต่งงานกันและใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมาหลายปี ต่อมาลานีด้าเริ่มมีพฤติกรรมแปลกออกไป เธอหลงทางและลืมนัด เธอได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อมก่อนวัยเมื่ออายุสี่สิบเจ็ดปี หลังจากทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลหลักของเธอมาเป็นเวลาสิบปี ทำให้จิมพูดได้ว่า “โรคสมองเสื่อมทำให้ผมมีโอกาสรักและปรนนิบัติภรรยาในแบบที่ผมนึกไม่ถึงตอนที่กล่าวคำปฏิญาณในวันแต่งงาน”

ขณะที่อัครทูตเปาโลอธิบายถึงของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ ท่านได้เขียนถึงคุณสมบัติของความรักไว้อย่างถี่ถ้วน (1คร.13) ท่านเปรียบให้เห็นความแตกต่างของการปรนนิบัติตามหน้าที่ที่ทำเป็นกิจวัตรกับแบบที่ทำด้วยความรักจากหัวใจ เปาโลเขียนว่าการพูดที่มีอำนาจเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าปราศจากความรักก็เหมือนเสียงอึกทึกที่ไร้ความหมาย (ข้อ 1) “แม้ข้าพเจ้าจะ...ยอมให้เอาตัวข้าพเจ้าไปเผาไฟเสีย แต่ไม่มีความรัก จะหาเป็นประโยชน์แก่ข้าพเจ้าไม่” (ข้อ 3) ในท้ายที่สุดเปาโลกล่าวว่า “ความรัก[เป็นของประทาน]ใหญ่ที่สุด” (ข้อ 13)

จิมเข้าใจถึงเรื่องความรักและการรับใช้ได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในขณะที่เขาดูแลภรรยา มีเพียงความรักที่ลึกซึ้งและคงทนเท่านั้นที่ทำให้เขามีกำลังที่จะช่วยเธอในแต่ละวัน ท้ายที่สุดแล้ว ที่เดียวที่เราได้เห็นแบบอย่างที่สมบูรณ์แบบของความรักที่เสียสละนี้ คือในความรักที่พระเจ้าทรงมีต่อเรา ซึ่งทำให้พระองค์ส่งพระเยซูมาสิ้นพระชนม์เพื่อบาปของเรา (ยน.3:16) การกระทำด้วยความเสียสละที่ได้รับแรงบันดาลใจจากความรักนั้นได้เปลี่ยนโลกของเราไปตลอดกาล

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา